ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในยุคโควิด-19: โลกของการอ่านที่ไม่จำกัดอยู่บนหน้ากระดาษ เทรนด์หนังสือเสียงเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก

 

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในยุคโควิด-19:
โลกของการอ่านที่ไม่จำกัดอยู่บนหน้ากระดาษ เทรนด์หนังสือเสียงเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก

7 กันยายน 2021
บทความเชิงวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจ

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เทรนด์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ (Digitalization) ในด้านการอ่านและสิ่งพิมพ์ทั่วโลกปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เทรนด์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการจัดพิมพ์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น นอกจาก
สิ่งพิมพ์รูปแบบดั้งเดิมที่เน้นตัวหนังสือเป็นหลัก (หนังสือ, การ์ตูน/มังงะ, นิตยสาร) รูปภาพและเสียงเริ่มกลายเป็นรูปแบบการถ่ายทอดเนื้อหาที่มีความสำคัญ ทั้งยังเป็นการต่อยอดและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น
สินค้าพรีเมียม (merchandise), การพัฒนาบริการด้านต่าง ๆ รวมถึงการดัดแปลง IP ของเนื้อหาสู่สื่อรูปแบบอื่น
ไต้หวันสามารถศึกษาเทรนด์ของนานาชาติ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation)

ผลกระทบจากโรคระบาดทำให้เทรนด์การขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ยอดขายหนังสือประเภทหนังสือเด็กและหนังสือไลฟ์สไตล์อย่างตำราอาหาร
ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นด้วย

การผสานรวมโลกเสมือนและโลกจริง ออนไลน์และออฟไลน์ ในเทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

จากข้อมูลประมาณการของนิตยสารธุรกิจในเยอรมนี “M+A” ในปี 2020 ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้นิทรรศการ
เชิงพาณิชย์เกือบ 3,000 งานทั่วโลกจำต้องยกเลิกหรือถูกเลื่อนออกไป ในเดือนตุลาคมปี 2020 เทศกาลหนังสือ
แฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt Book Fair, FBM) ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 500 ปีได้จัดงานในรูปแบบนิทรรศการดิจิทัลออนไลน์ นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลและการดัดแปลงเนื้อหาที่มีความหลากหลายสู่สื่อ
รูปแบบอื่น เทศกาลหนังสือ แฟรงก์เฟิร์ตยังได้ผลักดัน “โครงการ The Arts+” อย่างต่อเนื่อง โครงการดังกล่าวเป็นการ
หารือร่วมกันของบุคลากรด้าน สิ่งพิมพ์จากทั่วโลก ในเรื่องกลยุทธ์การต่อยอดทรัพยากรหนึ่งอย่างให้เกิดประโยชน์
หลากหลาย (One Source Multi Use, OSMU) และกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจสิ่งพิมพ์

จากข้อมูลสถิติของผู้จัดงานเทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ต ในปี 2020 เทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตมีผู้เข้าร่วมจาก 103 ประเทศ/เขตพื้นที่ ผู้ร่วมจัดแสดงเกือบ 4,500 รายใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการเจรจาธุรกิจและจัดกิจกรรม
ด้านการขาย หากพิจารณาจากตัวเลขผู้เข้าร่วมงานจริง เทียบกับปี 2019 ที่มีผู้ร่วมจัดแสดงจาก 150 ประเทศรวม 7,400 ราย จะเห็นว่า ผู้ร่วมจัดแสดงในปี 2020 ลดจำนวนลงเกือบครึ่ง แต่รูปแบบการจัดงานออนไลน์ก็เปิดโอกาสให้เทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งโดยไม่ถูกจำกัดด้วยระยะทางหรือเขตพื้นที่ หากพิจารณาโดยมองจากประสิทธิภาพในการดึงดูดผู้อ่านนานาชาติ เฉพาะเว็บไซต์ “buchmesse.de” ซึ่งเป็นเว็บทางการของเทศกาลหนังสือ
แฟรงเฟิร์ตปี 2020 เพียงอย่างเดียว ก็ดึงดูดผู้ใช้จากนานาประเทศได้กว่า 200,000 ราย นอกจากนี้กิจกรรม “BOOKFEST digital” บนเฟซบุ๊คยังดึงดูดผู้ชมราว 1.5 ล้านคนจาก 124 ประเทศทั่วโลกให้เข้าชมโปรแกรมต่าง ๆ ในกิจกรรมดังกล่าวด้วย จะเห็นได้ว่าเทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตที่เปลี่ยนรูปแบบสู่การจัดงานแบบดิจิทัลก็เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์
พอสมควรทีเดียว ทั้งยังเป็นการขยายขอบเขตให้เทศกาลดังกล่าวเป็นที่รู้จักในพื้นที่และประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นด้วย

จากสถิติของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือเยอรมนี (German Publishers & Booksellers Association) ช่วงที่เกิดโรคระบาด 21% ของประชากรในเยอรมนีอ่านหนังสือบ่อยขึ้น  17% ของชาวเยอรมันเพิ่งทราบเป็นครั้งแรกว่า
พวกเขาสามารถซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์และสั่งจองผ่านโทรศัพท์ได้ ทั้งยังมีประชากรอีกราวหนึ่งล้านคนที่ทำการซื้อหนังสือผ่านช่องทางข้างต้นเป็นครั้งแรกในช่วงโรคระบาด แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสภาวะแวดล้อม เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มหันไปซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน ผลสำรวจของสมาคมสื่อใหม่และโทรคมนาคมแห่งเยอรมนี (Bitkom) ในปี 2019 เกี่ยวกับประสบการณ์การอ่านของผู้อ่านชาวเยอรมนีพบว่า 30% ของกลุ่มตัวอย่างได้อ่านอีบุ๊ค (E-book) ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับตัวเลข 24% ในปี 2018 จะเห็นว่าเพิ่มสูงขึ้น 6% เทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของอีบุ๊คในฐานะไฮไลต์หลักรายการหนึ่งของเทศกาลหนังสือมาตั้งแต่สิบปีก่อน ถึงแม้ปัจจุบันอีบุ๊คในตลาดสิ่งพิมพ์ของเยอรมนีจะมีส่วนแบ่งในตลาดไม่ถึงร้อยละ 10 แต่เทรนด์อีบุ๊คยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นประเด็นที่บุคลากรในวงการสิ่งพิมพ์ทั่วโลกยังควรให้ความสำคัญและควรติดตามงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ผู้อ่านในอังกฤษซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แม้ว่าผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในปี 2020 จะทำให้ร้านค้าแบบมีหน้าร้านหรือร้านออฟไลน์ (Physical Store) รวมถึงร้านหนังสือ ต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวตามนโยบายควบคุมโรคระบาด แต่จากตัวเลขประมาณการของนีลเส็นบุ๊คสแกน (Nielsen BookScan) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำรวจข้อมูลการขายหนังสือของอังกฤษ ในปี 2020 ประชากรอังกฤษยังคงซื้อหนังสือจำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ตลาดหนังสือในปี 2019 ปริมาณการขายหนังสือแบบรูปเล่มของอังกฤษในปี 2020 เติบโตขึ้น 5.2% (จำนวนรวม 202 ล้านเล่ม) ยอดขายรวมสูงถึง 1,760 ล้านปอนด์ (ราว 80,200 ล้านบาทไทย) เทียบกับปี 2019 เติบโตขึ้น 5.5% แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่ประชาชนต้องรักษาระยะห่างทางสังคมและใช้เวลาอยู่บ้านเพิ่มขึ้น ความต้องการในการอ่านของพวกเขายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าร้านหนังสือแบบออฟไลน์ต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวก็สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ในการซื้อหนังสือได้

ข้อมูลการจัดอันดับจากแอมะซอน ประเทศอังกฤษ (Amazon UK) ระบุว่า เมื่ออังกฤษดำเนินนโยบายล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชนรวมทั้งครอบครัว (เด็ก) มีเวลาอยู่ด้วยกันเพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดขายหนังสือประเภทหนังสือเด็กเพิ่มสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง นอกจากนี้ เมื่อประชาชนในอังกฤษใช้เวลาอยู่บ้านเพิ่มมากขึ้น หนังสือประเภทตำราอาหารก็ได้รับความนิยมตามไปด้วย อีกด้านหนึ่ง สำหรับหนังสือประเภทนิยาย วรรณกรรม รวมถึงบันเทิงคดีต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนชาวอังกฤษมีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้นในปี 2020 (ล็อกดาวน์ทำให้ได้ทำงานที่บ้าน หรือได้หยุดงาน) จึงทำให้หนังสือประเภทนิยาย ชีวประวัติ และ บันเทิงคดีต่าง ๆ ทำยอดขายได้ดีทีเดียว โดยหนังสือเรื่อง “A Promised Land” และ “Where the Crawdads Sing” ติดอันดับหนังสือขายดีทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

เทรนด์หนังสือเสียงเริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มผู้อ่านชาวอเมริกัน

สำหรับตลาดหนังสืออเมริกาในปี 2020 บริษัทแสตกเกอร์ (Stacker) ได้เรียบเรียงข้อมูลจากการจัดอันดับหนังสือขายดีประจำปี 2020 ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส (New York Times) และพบว่า หนังสือประเภทสารคดี (Non-fiction) เช่น บันทึกความทรงจำของบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีผู้ได้รับคะแนนนิยมล้นหลามจากประชาชน รวมถึงหนังสือของนักการเมืองท่านอื่น เช่น บันทึกความทรงจำของกมลา แฮร์ริส ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและประธานวุฒิสภาสหรัฐฯ และเคยดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย ล้วนติดอันดับหนังสือขายดี อีกด้านหนึ่ง หนังสืออัตชีวประวัติของนักร้องอเมริกันผู้มีชื่อเสียงอย่างดอลลี พาร์ตัน (Dolly Parton) และอดีตพิธีกรชื่อดังผู้ล่วงลับ
อเล็กซ์ เทรเบค (Alex Trebek) รวมถึงศิลปินท่านอื่น ก็ทำยอดขายได้ดีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เนื่องจากผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้หนังสือประเภทตำราอาหารได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอเมริกันอย่างมาก

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ รายงานประจำปี 2020 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือเสียง (Audio Publishers Association, APA) ในสหรัฐอเมริการะบุว่า ในปี 2019 ตลาดหนังสือเสียงในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ราว 40,800 ล้านบาทไทย) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้น 16% ทั้งยังปรากฏการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปีแล้ว นอกจากนี้ ข้อมูลแวดวงอุตสาหกรรมในสมุดปกขาว (White paper) ของเทศกาลหนังสือแฟรงก์เฟิร์ต ระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้น ในปี 2020 ตลาดหนังสือเสียงในอเมริกามีมูลค่าสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 51,000 ล้านบาทไทย) ทั้งในอนาคตยังมีแนวโน้มเติบโตในระดับ 20-25% เลยทีเดียว รายงานประจำปี 2020 ของสมาคม APA ยังระบุด้วยว่า ผู้บริโภคเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและหันไปใช้หนังสือเสียงมากขึ้น ในกลุ่มผู้ใช้หนังสือเสียงช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไปในอเมริกา ปริมาณการซื้อหนังสือเสียงเฉลี่ยต่อปีเพิ่มจาก 6.8 เล่ม/คนในปี 2019 เป็น 8.1 เล่ม แม้ว่าเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเนื้อหาอื่น ๆ ตลาดหนังสือเสียงยังนับว่าค่อนข้างเล็ก แต่ด้วยความเร็วในการเติบโตของตลาด ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าหนังสือเสียงมีศักยภาพการเติบโตอยู่มาก และจะกลายเป็นการอ่านอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมจาก ผู้อ่านทั่วโลกในอนาคต

แอนิเมชันยอดนิยมขับเคลื่อนยอดขายธุรกิจสิ่งพิมพ์ในญี่ปุ่น

ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องปรับวิถีชีวิตตามนโยบายป้องกันโรคระบาด จำนวนคนที่ทำงานจากบ้าน
เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้านลดลง ทำให้ความต้องการอ่านสิ่งพิมพ์ที่ให้ความบันเทิงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายของนวนิยายและมังงะที่ได้รับการดัดแปลงสู่สื่ออื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งในจำนวนนี้ ยอดขายของ
มังงะยอดนิยมอย่าง “ดาบพิฆาตอสูร” (Demon Slayer/Kimetsu no Yaiba) มีความโดดเด่นมากที่สุด มังงะชุด
“ดาบพิฆาตอสูร” นี้มีทั้งหมด 23 เล่มจบ ยอดขายปี 2020 รวม 120 ล้านเล่ม (รวมฉบับอีบุ๊ค) ซึ่งเล่มที่ 23 ของชุด เริ่มวางขายในวันที่ 4 ธันวาคม 2020 ด้วยยอดพิมพ์ครั้งที่หนึ่งที่มีจำนวนสูงถึง 3.95 ล้านเล่ม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันน่า
ตื่นตะลึงของมังงะเรื่องนี้

จากข้อมูลของผู้จัดจำหน่ายหนังสือสองรายใหญ่ในญี่ปุ่น: นิปปัน (NIPPAN) และโทฮัน (TOHAN) รายงานยอดขายประจำปีซึ่งประกาศ ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2020 ระบุว่า ภาพยนตร์แอนิเมชัน “ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ ศึกรถไฟสู่นิรันดร์” (Kimetsu no Yaiba: Kyōdai no Kizuna) ซึ่งเริ่มฉายที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2020 ยอดขายตั๋วสามวันแรกพุ่งทะลุ 4,600 ล้านเยน (ราว 1,380 ล้านบาทไทย) ทำสถิติเหนือ “มิติวิญญาณมหัศจรรย์” (Spirited Away) และกลายเป็นภาพยนตร์ที่มียอดขายตั๋วสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ญี่ปุ่น นิยายชุดที่เกี่ยวข้องจึงได้เกาะกระแสความนิยมจน
ขึ้นครอง 3 อันดับใน TOP 5 หนังสือขายดีที่สุดของญี่ปุ่นประจำปี 2020 ยอดขายรวมสูงถึง 2.95 ล้านเล่ม

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของจีนเปลี่ยนทิศทางสู่การพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น

โรคระบาดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อยอดขายหนังสือทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ของร้านหนังสือ จากข้อมูลบนแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้าจงจินอี้อวิ๋น (Centrin Ecloud) ที่ได้ทำการสำรวจยอดขายหนังสือของร้านหนังสือแบบออฟไลน์จำนวน 5,500 แห่งทั่วประเทศจีน ระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกของ 2020 หลังจากได้รับผลกระทบของโรคระบาด ยอดขายของร้านหนังสือออฟไลน์ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 31.47% ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากโกดังสินค้า บริการลอจิสติกส์ และธุรกิจสนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประสบภาวะชะงักงัน ประกอบกับบางพื้นที่ใช้นโยบายแยกพื้นที่ (isolation) เพื่อควบคุมโรคระบาด ทำให้ความต้องการในการอ่านสื่อที่เป็นดิจิทัลพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น สำนักพิมพ์บางส่วนในประเทศจีนจึงพยายามผลักดันอีบุ๊ค/บริการเนื้อหาดิจิทัลอย่างเต็มความสามารถ มีการจัดทำแพ็กเกจสมาชิกระยะยาว (subscription) ต่าง ๆ ทั้งแบบฟรี/เสริมโปรโมชันเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศเป่ยจิงไคเจวี้ยน (Openbook) ระบุว่า ในช่วงแรกที่เกิด
โรคระบาด แพลตฟอร์มเนื้อหาดิจิทัลหลายแห่งในประเทศจีนมีจำนวนสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับ
ช่วงก่อนหน้า มีแพลตฟอร์มจำนวนน้อยที่ยอดสมาชิกพุ่งสูงกว่าเดิมถึง 300%

นอกจากเนื้อหาในรูปแบบตัวอักษร ช่วงโรคระบาดประชาชนยังนิยมสื่อโสตวัสดุ (audio materials) เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อเสริมศักยภาพในการทำสื่อเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มสื่อโสตวัสดุ “สีหม่าล่ายา” (Ximalaya FM) ซึ่งจัดเผยแพร่หนังสือเสียง “มหาอาณาจักรฉิน” (Da Qin Di Guo) ภายในระยะเวลาเพียงสองเดือน รายได้เติบโตมากถึงเท่าตัว รวมมูลค่ากว่า 500,000 หยวน (ประมาณ 2.25 ล้านบาทไทย) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ช่วงโรคระบาด เทศกาลหนังสือของจีนหลายเทศกาลซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดงานมานาน ได้เริ่มประยุกต์ใช้รูปแบบการจัดงานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธี “บูรณาการออนไลน์และออฟไลน์” (Online-Offline Integration) รวมถึง “บูรณาการสื่อกายภาพกับดิจิทัล” (Physical-Digital Integration) เช่น เทศกาลหนังสือศิลปะ abC (Art Book in China) ซึ่งนับเป็นงานที่มีความสำคัญในแวดวงผู้จัดพิมพ์อิสระ ในปี 2020 ก็ได้จัดงานภายใต้ธีม “ไร้ซึ่งระยะห่างทางสังคม” (Without Social Distance) โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา (Alibaba) นำเนื้อหาในเทศกาลหนังสือบูรณาการกับแอปพลิเคชันไลฟ์สไตล์อย่างถั่งผิง (Tangping) ทำให้ผู้จัดพิมพ์ที่ไม่สามารถเข้าชมงาน
ในสถานที่จริง สามารถอ่านเนื้อหาต่าง ๆ ในหนังสือผ่านทางหน้าจอมือถือและทำการสั่งซื้อผลงานที่สนใจได้ หรือเทศกาลหนังสือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Book Fair) ในปี 2020 ที่ได้ปรับเปลี่ยนการจัดงานให้นำสมัยยิ่งขึ้นในรูปแบบเทศกาลหนังสือที่ “ผสมผสานสื่อทุกรูปแบบ” (Omnimedia) โดยสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสอดรับกับกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ในเทศกาลหนังสือ และถ่ายทอดโดยใช้เทคโนโลยีไลฟ์สตรีม, บันทึกภาพวิดีโอเพื่อเผยแพร่ และการสื่อสารแบบดิจิทัลอื่น ๆ

นอกจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคและสอดรับกับรูปแบบของสิ่งพิมพ์ ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์บางรายในจีนยังใช้กิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบดิจิทัล เพื่อกระตุ้นให้
ผู้บริโภคสนใจการอ่านมากยิ่งขึ้นในช่วงโรคระบาด เช่น ช่องทางไลฟ์สตรีม วิดีโอสั้นบนติ๊กต็อก (Tiktok) เพื่อทดลองดูว่าจะสามารถโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการขายหนังสือได้อย่างไรบ้าง ในช่วงโรคระบาด ปริมาณและความถี่ในการไลฟ์สตรีมเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้าสิ่งพิมพ์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ของจีนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อาจเรียกได้ว่า โรคระบาดครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบและประเมินความสามารถในการ “กระจายช่องทางขายออนไลน์” และ “ศักยภาพการตีพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล” ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในจีน

ปริมาณการจัดพิมพ์หนังสือของเวียดนามเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ีรัฐบาลส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างเต็มกำลัง

หลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตของธุรกิจสิ่งพิมพ์ในเวียดนามเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แซงหน้าอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย แต่วัฒนธรรมการอ่านของประชากรเวียดนามไม่ได้เติบโตเฟื่องฟูตามปริมาณการผลิต ทำให้เกิดปัญหา “หนังสือมหาศาลจนท้นท่วมรอบตัวคน แต่ไม่เห็นมีใครอ่าน”

สำหรับอีบุ๊ค จากสถิติของกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยวเวียดนาม (Ministry of Culture, Sports and Tourism) ปัจจุบันเวียดนามมีสำนักพิมพ์ที่ทำธุรกิจตีพิมพ์อีบุ๊คเพียง 6 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของ
สำนักพิมพ์ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในธุรกิจอีบุ๊คของวงการสิ่งพิมพ์เวียดนามยังอยู่ในวงจำกัด ไม่เปิดรับ
การเปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ช่องทางการซื้อหนังสือของผู้อ่านเวียดนามในปี 2020 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเปลี่ยนจากการซื้อที่หน้าร้านแบบออฟไลน์เป็นการซื้อบนร้านออนไลน์แทน จากผลการสำรวจของติกี (Tiki) ซึ่งเป็นร้านหนังสือออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ยอดขายในช่วงสองเดือนแรกของปี 2020 เติบโตขึ้นถึง 150% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนร้านหนังสือออนไลน์อื่น ๆ ก็เติบโตเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 20-70% การซื้อหนังสือออนไลน์ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้อ่านเวียดนามเปิดใจทดลองอีบุ๊คมากขึ้นกว่าเดิม จากสถิติของแพลตฟอร์มอีบุ๊ควะกา (Waka) ของเวียดนาม ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 รายได้ของแพลตฟอร์ม
ดังกล่าวเติบโต 20-30% จำนวนการเข้าชมสูงถึง 15,000 คน ซึ่งผู้อ่านส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ล้วนมีประวัติการสั่งซื้ออีบุ๊คเพื่ออ่านบนแพลตฟอร์ม และปริมาณการซื้ออีบุ๊คเฉลี่ยต่อสมาชิกแต่ละรายก็เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับประเด็นนี้ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์วรรณกรรม (Nhàxuất bản Văn học) คุณเหวียนอังวู๋ (Nguyễn Anh Vũ) ให้ข้อมูลว่า ในอดีต ผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์ในเวียดนามไม่ให้ความสนใจกับการบริหารธุรกิจและตลาดอีบุ๊คมากเท่าไรนัก แต่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโมเดลการขายหนังสือแบบรูปเล่มผ่านหน้าร้านที่เคยทำในอดีต ผู้ประกอบการจึงถูกบีบให้ปรับทิศทางธุรกิจใหม่
และเริ่มหันมาใช้ช่องทางขายออนไลน์

รัฐบาลเวียดนามพยายามใช้นโยบายรัฐในการผลักดันวัฒนธรรมการอ่านและนิสัยรักการอ่านของประชาชน รวมถึงสนับสนุนสำนักพิมพ์ภายใต้การบริหารของรัฐที่มีอยู่เดิมทั้งในด้านการเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลและการดำเนินกิจการ มีการจัดตั้งสมาคมหนังสือภาคประชาชนเพื่อวางแผนจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความใกล้ชิดและผูกพันกับหนังสือทั้งในแบบรูปเล่มและอีบุ๊ค เช่น กิจกรรมวันอ่านหนังสือ งานมอบรางวัลและเทศกาลหนังสือระดับชาติ โครงการแปลผลงานวรรณกรรมชั้นยอดจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาเวียดนาม เป็นต้น ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามยังมอบความช่วยเหลือแก่สมาคมหนังสือออนไลน์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนอีบุ๊ค มอบความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและการผลิตหนังสือแบบรูปเล่มที่มีอยู่เดิม เสริมความแข็งแกร่งของตลาดการจัดจำหน่ายหนังสือรูปเล่มและอีบุ๊คผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีเป้าหมายจะใช้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาดเป็นตัวนำสู่การพลิกโฉมธุรกิจผลิตสิ่งพิมพ์ของเวียดนาม

40% ของผู้บริโภคชาวไต้หวันใช้เวลาอ่านไลน์นานขึ้น                                      เกือบ 30% ของผู้บริโภคซื้อมังงะและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

ในปี 2020  “แผนสำรวจภาพรวมของการบริโภคเชิงวัฒนธรรมในไต้หวันในช่วงโรคระบาด” ของสำนักงานเนื้อหา
เชิงสร้างสรรค์ของไต้หวัน (Taiwan Creative Content Agency, TAICCA) ใช้การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า ระบุถึงผลกระทบของโรคระบาดในปี 2020 ซึ่งทำให้ประชากร 40.2% ใช้เวลาอ่านออนไลน์นานขึ้น (รวมถึง บทความบนอินเทอร์เน็ต นิยายในรูปแบบอีบุ๊ค และอื่น ๆ) ประชากร 29.7% ระบุว่า ใช้เวลาอ่านมังงะนานขึ้นกว่าเดิม และ 40.4% ของประชากรใช้เวลาฟังพอดแคสต์นานมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า โรคระบาดมีผลต่อพฤติกรรมการอ่านของชาวไต้หวัน ส่วนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าประเภทสิ่งพิมพ์ ถึงแม้ประชาชนกว่า 60% ระบุว่าโรคระบาดไม่ได้ทำให้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าเชิงวัฒนธรรมของตนเองเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับสิ่งพิมพ์และมังงะ ยังคงมีประชากรเกือบ 30% ที่ระบุว่ามีการบริโภคเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม มีราว 10% เท่านั้นที่ระบุว่าบริโภคน้อยลง เทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อประชาชนมีโอกาสสัมผัสผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้สัมผัสเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

“รายงานแนวโน้มและสถานการณ์การจัดพิมพ์หนังสือไต้หวัน” ซึ่งตีพิมพ์โดยหอสมุดแห่งชาติไต้หวัน เมื่อเดือนมีนาคม
ปี 2021 ระบุว่า ตลอดปี 2020 ไต้หวันตีพิมพ์หนังสือใหม่ทั้งหมด 35,041 เรื่อง เทียบกับปี 2019 จำนวนลดลง 1,769 เรื่อง แต่หากดูสถิติเฉพาะอีบุ๊ค ปี 2020 มีอีบุ๊คออกใหม่ทั้งหมด 2,038 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 5.82% ของหนังสือใหม่ทั้งหมด เติบโตขึ้นจากปี 2019 ถึง 28.10% ยอดขายสูงกว่าเดิมถึง 32.61% โรคระบาดส่งผลให้ชาวไต้หวันสนใจหนังสือประเภทจิตวิทยาและให้กำลังใจมากขึ้นกว่าเดิม ในปี 2020 ตีพิมพ์ทั้งหมด 1,601 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2019 เป็นจำนวน 240 เรื่อง อัตราการเติบโตอยู่ที่ 17.63% และครองอันดับหนังสือขายดีบนร้านหนังสือออนไลน์ทั้งหมด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

  1. แผนสำรวจธุรกิจผลิตเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ของไต้หวันในปี 2020— ธุรกิจผลิตหนังสือ นิตยสาร มังงะ ภาพวาดที่มีลิขสิทธิ์ต้นฉบับ
  2. แผนสำรวจภาพรวมของการบริโภคเชิงวัฒนธรรมในไต้หวันในช่วงโรคระบาด

บทความต้นฉบับ: https://taicca.tw/article/dee9c74e?fbclid=IwAR2ZdnSnPi_m1mDkh3aKPxJ2QNUaMEfpdMPP8QMsMy-FfGaXt11udAGWAhY