สรุปข้อมูลตลาดหนังสือ ASEAN จากการเข้าร่วมงาน Asian Rights Fair-Manila 2024

นางสาวดวงพร สุทธิสมบูรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญไปร่วมงาน Manila International Book Fair (MIBF) และ Asian Rights Fair-Manila 2024 (ARF-Manila 2024) ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 11-14 กันยายน 2567 เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับตลาดหนังสือต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนสิทธิและการกระจายหนังสือ รวมถึงโอกาสในการสร้างช่องทางใหม่ๆ ในการเข้าสู่ตลาดของแต่ละประเทศ รวมกับองค์กรสำนักพิมพ์นานาชาติ ได้แก่ สมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือแห่งมาเลเซีย (MABOPA) สมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งอินโดนีเซีย (IKAPI) สมาคมผู้ขายหนังสือมาเลเซีย (MBA) สมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือแห่งสิงคโปร์ (SBPA) และ Perbadanan Kota Buku ซึ่งเป็นผู้เริ่มจัดงาน Asian Rights Fair-Manila 2024 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ฟิลิปปินส์ในฐานะ Guest of Honor งาน Frankfurter Buchmesse และโครงการสนับสนุนการแปล

ฟิลิปปินส์มีเป้าหมายสำคัญคือการนำเสนอหนังสือฟิลิปปินส์สู่ตลาดสากล ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านเนื้อหาทางวรรณกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2568 ฟิลิปปินส์ได้รับเลือกเป็นแขกผู้มีเกียรติ (Guest of Honor) ประจำงาน Frankfurter Buchmesse (FBM) ครั้งที่ 77 ซึ่งเป็นหนึ่งในงานหนังสือที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก งานนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์และการแปลหนังสือ

ทั้งนี้ ได้มีการจัดโครงการสนับสนุนการแปล สำหรับสำนักพิมพ์ต่างชาติที่ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากฟิลิปปินส์ โดยแบ่งออกเป็นรอบดังนี้

  1. 2024 THIRD CYCLE : August to November 2024
  2. 2025 – FIRST CYCLE : 06 January to 14 February 2025
  3. 2025 – SECOND CYCLE : 01 August to 30 November 2025

ทุนสนับสนุนตั้งแต่ USD 1200 – 4500 ขึ้นอยู่กับประเภทของหนังสือ
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัคร ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1KPGuPrWEB6c2XbCKJrnapnW6moYqvX2i/view?usp=sharing
และ https://books.gov.ph/GOHtranslationguidelines


การเติบโตของของ e-book และแพลตฟอร์มดิจิทัลในตลาดหนังสือสิงคโปร์

ตลาดหนังสือสิงคโปร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.08 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อปี ปัจจุบันมีบริษัทจัดพิมพ์ที่ลงทะเบียนกับสมาคมการพิมพ์หนังสือแห่งสิงคโปร์จำนวน 75 บริษัท โดยบริษัทหลักๆ ได้แก่ Marshal Cavendish, World Scientific และ Star Publishing ซึ่งเน้นไปที่หนังสือเพื่อการศึกษาและวิชาการ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีร้านหนังสืออยู่ประมาณ 40 ร้าน และมีการผลิตหนังสือใหม่ๆ กว่า 12,000 รายการต่อปี

ราคาของหนังสือในสิงคโปร์มีการกำหนดตามประเภท โดยหนังสือปกแข็งมีราคาประมาณ 25-50 เหรียญสิงคโปร์ ในขณะที่หนังสือปกอ่อนมีราคาประมาณ 12-26 เหรียญสิงคโปร์ ทั้งนี้ ยังมีการขายหนังสือในรูปแบบอีบุ๊ก ซึ่งมีราคาถูกกว่าหนังสือรูปแบบดั้งเดิม อยู่ที่ 8-15 เหรียญสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ตลาดหนังสือในสิงคโปร์มีการกำหนดราคาที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้จำหน่าย

แนวโน้มการเติบโตของอีบุ๊กและแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งด้านที่มีการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้ประชาชนหันมาใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น แอปพลิเคชัน NLB ของสิงคโปร์ยังมีการให้บริการเข้าถึงหนังสือดิจิทัลกว่า 725,000 รายการ ทำให้การเข้าถึงหนังสือในรูปแบบออนไลน์เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวรรณกรรมและศิลปะผ่านการจัดเทศกาลและการแข่งขันวรรณกรรมระดับชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์และองค์กรอื่นๆ เช่น รางวัล Golden Point, รางวัล Singapore Literature Prize, และ Epigram Book Fiction Prize นอกจากนี้ ยังมีการจัดเทศกาลวรรณกรรมชื่อดัง เช่น Singapore Writers Festival, Asian Festival of Children’s Content, และ Singapore Children’s Book Festival เพื่อส่งเสริมความหลากหลายในวรรณกรรมและสนับสนุนชุมชนนักเขียนท้องถิ่นอีกด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1QB1vdLdEaj4FwOgvxNUIt_In2A2eORxN/view?usp=sharing


ข้อมูลอุตสาหกรรมหนังสือมาเลเซีย และการสนับสนุนจากภาครัฐ

ภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังสือในมาเลเซีย

สำนักพิมพ์ชั้นนำ ในปี 2024:

  • Sasbadi มียอดขาย 68 ล้านริงกิต
  • Pelangibooks มียอดขาย 65 ล้านริงกิต
  • Karya Bestari (Aras Mega) มียอดขาย 53 ล้านริงกิต

ร้านหนังสือยอดนิยม:

  • Popular Bookstore ครองตำแหน่งสูงสุดด้วยยอดขาย 446 ล้านริงกิต
  • BookXcess มียอดขาย 71 ล้านริงกิต
  • Big Bad Wolf มียอดขาย 68 ล้านริงกิต

ช่องทางการขายหนังสือ:

  • หนังสือในมาเลเซียจำหน่ายผ่านช่องทางหลากหลาย เช่น ร้านหนังสือ, ห้องสมุด, โรงเรียน, เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์, งานแสดงหนังสือ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สำคัญ:
  • Shopee, Lazada, Bookcafe.com
  • TikTokShop ที่กำลังมาแรง มีผู้ขายหนังสือยอดนิยม เช่น:
    • Hayati Buku Kanak Kanak ขายได้ 569,700 เล่ม
    • Kedai Buku BookCafe ขายได้ 508,600 เล่ม

ผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านล่าสุดจากหอสมุดแห่งชาติมาเลเซีย:

  • คนมาเลเซียอ่านหนังสือเฉลี่ย 24 เล่มต่อปี
  • 76.4% ของผู้อ่านอ่านหนังสือในภาษามาเลย์ และ 71.8% อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ
  • เวลาที่ใช้ในการอ่าน:
    • เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 19 นาทีต่อวัน
    • รวม 9 ชั่วโมง 22 นาทีต่อสัปดาห์
  • 43.1% ของผู้อ่านอ่านหนังสือทุกวัน

โครงการสนับสนุนจากรัฐบาล:

  • รัฐบาลมาเลเซียได้จัดสรรงบประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือ โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นการขายและการพัฒนาอุตสาหกรรม
  • โครงการสนับสนุนนักเรียนได้รับงบประมาณรวม 400 ล้านริงกิต เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงหนังสือและสื่อการศึกษาที่จำเป็น โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมหนังสือในมาเลเซีย
  • การเชื่อมโยงระบบกับ Google ช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงเงินทุนผ่าน ID ของ Google เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว

ตลาดหนังสือในมาเลเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โครงการต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลเช่น TikTok ที่ทำให้การขายหนังสือเข้าถึงผู้อ่านรุ่นใหม่ได้มากขึ้น การผสมผสานระหว่างช่องทางการขายแบบดั้งเดิมและดิจิทัล กำลังทำให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับวรรณกรรมและการศึกษาในภูมิภาคนี้