1 อ่าน ล้านตื่น

1 อ่าน ล้านตื่น

ปัญหาของการส่งเสริมการอ่านในพื้นที่ด้อยโอกาส คือการขาดแคลนเครื่องมือ “หนังสือ” ถือเป็นหัวใจสำคัญ เป็นสื่อการอ่านที่ราคาถูก ใช้งานง่าย แม้กระนั้นในพื้นที่ด้อยโอกาสก็ยังไม่สามารถจัดหาด้วยตนเองได้ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า  “หนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยและตรงใจผู้อ่าน” จะส่งผลต่อการอ่านอย่างมีคุณภาพ  แต่หนังสือที่มาถึงพื้นที่ด้อยโอกาสส่วนใหญ่ มักได้มาจากการรับบริจาคหนังสือ   จากสถิติของหน่วยงานที่ได้รับบริจาคหนังสือพบว่า กว่า ๗๐ % เป็นหนังสือที่ไม่มีคุณภาพ ล้าสมัย ต้องคัดทิ้ง   ไม่สามารถนำมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านได้ 

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย  แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกระดาษถนอมสายตากรีนรี๊ด SCG Paper    สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมจึงรวมกันเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อดำเนินกิจกรรมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ด้วยการรณรงค์เปลี่ยนทัศนคติในการบริจาคหนังสือในชื่อ โครงการ ๑ อ่านล้านตื่น”  ด้วยแนวคิดสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่ขาดแคลน ได้มี โอกาสในการเลือกหนังสือคุณภาพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ที่สำคัญต้องเหมาะสมกับช่วงวัย  และตรงใจ อยากอ่าน  อันจะส่งผลต่อการสร้างพฤติกรรมรักการอ่าน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ สู่การพัฒนาคุณภาพของคนไทยอย่างยั่งยืน

จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว โครงการ ๑ อ่านล้านตื่น จึงได้ออกแบบกิจกรรมเพื่อเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ให้สังคมและภาครัฐได้ตระหนักรู้ และขยายผลไปสู่การพิจารณางบประมาณจัดซื้อหนังสือดังนี้

๑. โครงการหนังสือตรงใจ

ในการที่จะทำให้สังคมเข้าใจถึงผลของบริจาคหนังสือที่ดีมีคุณภาพว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการอ่านของคนในพื้นที่นั้น ๆ ได้ โครงการ ๑ อ่าน ล้านตื่น จึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่ตัวอย่างเพื่อดำเนินการตามแนวคิดที่ตรวจวัดประเมินผลได้ อันจะนำไปสู่การเป็นพื้นที่ตัวอย่าง ใช้ในการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ในการส่งเสริมการอ่านด้วยหนังสือใหม่ มีคุณภาพ เหมาะสมกับช่วงวัย และตรงใจผู้อ่านให้รอบด้านที่สุด

๒. โครงการ “๑ คนชวนอ่าน ล้านคนตื่นรู้”

ผลวิจัยจากนักวิชาการและทางการแพทย์ยืนยันว่า หนังสือคือเครื่องมือพื้นฐานในการส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต หากเด็กได้รับการส่งเสริมการอ่านตั้งแต่ปฐมวัย จะทำให้สมองได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ สร้างคุณภาพของคนให้มีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง คิดเป็น วิเคราะห์เป็น มีสติยั้งคิด รู้จักยืดหยุ่น มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น คนที่อ่านหนังสือออก อ่านเป็น อย่างน้อยก็ยังสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง

แต่ทำไมการอ่านจึงวิกฤต ?   วิกฤตการอ่านหนังสือในประเทศไทยนั้น สาเหตุสำคัญประเด็นหนึ่งคือ การขาดหนังสือที่ดีมีคุณภาพและเหมาะสมกับช่วงวัย ตรงตามความต้องการของคนในพื้นที่ให้ได้อ่าน อีกสาเหตุหนึ่งคือหนังสือไม่เหมือนสื่อทีวีหรือสื่อดิจิทัลทั่วไปที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย ส่งตรงถึงบ้าน แต่หนังสือต้องอาศัยแรงจูงใจ กระบวนการส่งเสริมการอ่าน สร้างแรงผลักในการเข้าหา  จึงมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเพียรพยายามสละเวลา แรงกาย แรงใจรวมถึงทรัพย์สินเงินทอง ผลักดันให้เกิดการรักการอ่าน สร้างชุมชนแห่งการอ่านขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ปิดทองหลังพระ  เผชิญความยากลำบากในการจัดหา  หนังสือที่ดีมีคุณภาพมาให้พื้นที่ที่ทำกิจกรรมได้อ่าน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของโครงการประกาศเกียรติคุณ “๑ คนชวนอ่าน ล้านคนตื่นรู้” 

๓. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์โครงการ

หนังสือคือเครื่องมือพื้นฐานในการส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ สร้างคุณภาพของคนให้มีสติปัญญา รู้จักการดูแลตนเอง ให้มีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง คิดเป็น วิเคราะห์เป็น มีสติยั้งคิด รู้จักยืดหยุ่น มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น คนที่อ่านหนังสือออก อ่านเป็น สามารถต่อยอดไปสู่การหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง 

แต่ได้มีการบริจาคหนังสือที่ไม่มีคุณภาพ เข้าสู่พื้นที่การส่งเสริมการอ่าน นำไปสู่ภาระในการคัดกรองส่งผลต่อการไม่ประสบความสำเร็จต่อการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน   จึงมีความจำเป็นต้องรณรงค์ให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในการบริจาค หรือการขอรับบริจาคหนังสืออย่างมีคุณภาพ และการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือที่เหมาะสม เพียงพอ และต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลน และไม่มีโอกาสเข้าถึงหนังสือ