ภววิสัยทางวรรณกรรมของบรรณาธิการ ‘สมมติ’
โลกในวรรณกรรมล้วนเป็นเรื่องแต่ง ทว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมหาใช่สิ่งสมมติ มากบ้างน้อยบ้าง นักเขียนมีหน้าที่จับเรื่องจริงอันขมปร่ามาปรุงให้น่ารื่นรมย์สำหรับโลดเต้นบนหน้ากระดาษ ส่วนรสขื่นๆ นอกเหนือไปจากตัวบท กลับเป็นภววิสัยที่คนผลิตงานวรรณกรรมปรารถนาให้เป็นเรื่องเท็จ อย่างเป็นทางการ, ‘สำนักพิมพ์สมมติ’ ส่งงานเล่มแรกออกสู่สาธารณะด้วยหนังสือปกสีขาวขนาดความหนาไม่ทรทานจิตใจชื่อ บาร์เทิลบี ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ นับจากกุมภาพันธ์นั้น (2551) จนถึงปัจจุบัน กล่าวได้อย่างเต็มปากว่าสำนักพิมพ์ซึ่งบริหารโดย ‘ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล’ พิมพ์และจำหน่ายงานที่อยู่ในหมวดขายยากมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นบทกวี งานวิชาการ รวมไปถึงวรรณกรรมทั้งไทยและเทศ นับได้ว่าสำนักพิมพ์นี้เป็นชื่อแรกๆ ที่นักเขียนบ้านเราอยากร่วมงานด้วย อย่างไรก็ตาม นั่นหาใช่สรรพคุณที่ต้องจับมาอวดโอ่กระทั่งเรียกร้องฟูมฟาย เหมือนที่ปิยะวิทย์ย้ำอยู่บ่อยๆ ตลอดการสนทนาว่าทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นกิเลสส่วนบุคคล และข้าวปลาอาหารก็สำคัญต่อชีวิตกว่าเป็นไหนๆ กลับมาที่สารตั้งต้น เราบุกไปเยี่ยมร้านหนังสือสมมติย่านชานเมืองอันสวยขรึม ที่ขึงกางไปด้วยความสงบชวนให้นึกถึงรอบๆ สถานที่ซึ่งเกริกจับชายแคระมาขังไว้ในนิยายซีไรต์ของวิภาส ศรีทอง เพื่อพูดคุยกับบรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์นี้ ด้วยข้อสงสัยหลักว่า ทำไมวรรณกรรมแปลถึงขายคล่องกว่าวรรณกรรมไทย ในสัดส่วนสมมติฐานที่มากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามเสียงครวญของมนต์แคน แก่นคูณจากวิทยุของเพื่อนบ้าน เกือบสิบปีมานี้เขาเห็นอะไร มีสิ่งไหนน่าสนใจเป็นพิเศษ บนเครื่องหมายดอกจันที่วางอยู่เหนือตำแหน่งของประเทศที่ข้าวปลาอาหารยังซื้อหายากขึ้นตามลำดับด้วยซ้ำไป ก่อนอื่นรบกวนถามว่า วรรณกรรมแปลขายดีกว่าวรรณกรรมไทยจริงไหม สำหรับของสมมติต้องตอบว่าใช่ แต่เท่าที่รู้ วรรณกรรมแปลขายดีกว่าวรรณกรรมไทยมาโดยตลอดอยู่แล้ว มันเหมือนมีการันตีบางอย่าง การแปลคือการข้ามวัฒนธรรม การศึกษา การเรียนรู้ เป็นตัวอย่างที่ดีในหลายๆ ด้าน รวมถึงโลกใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ฉะนั้นย่อมขายดีกว่าด้วยตัวมันเองตามธรรมชาติ พอตั้งคำถามแบบนี้ผมเลยขออนุญาตถามกลับว่า การที่วรรณกรรมไทยขายไม่ดีนั้นเป็นปัญหาหรือเปล่า ถ้าเป็น มันเป็นปัญหาของใคร […]