

ตอนที่ยกกล้องขึ้นเพื่อเก็บภาพ เป็นช่วงเวลาก่อนที่พนักงานใน ‘บริษัท ภาพพิมพ์ จำกัด’ จะพักกลางวันเล็กน้อย ภูมิทัศน์รอบๆ ทำให้คนรักการอ่านอย่างเรารู้สึกตื่นเต้นไม่เบา มิใช่บ่อยครั้งเสียหน่อยที่จะมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนสถานที่ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นทางหนึ่งของการผลิตหนังสือ

ตอนที่ยกกล้องขึ้นเพื่อเก็บภาพ เป็นช่วงเวลาก่อนที่พนักงานใน ‘บริษัท ภาพพิมพ์ จำกัด’ จะพักกลางวันเล็กน้อย ภูมิทัศน์รอบๆ ทำให้คนรักการอ่านอย่างเรารู้สึกตื่นเต้นไม่เบา มิใช่บ่อยครั้งเสียหน่อยที่จะมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนสถานที่ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นทางหนึ่งของการผลิตหนังสือ
01 เริ่มต้นอย่างไรดี
“แนะนำให้เข้ามาคุยกันก่อนว่าอยากได้หนังสือแบบไหน ทางเราจะบริการดูแลเรื่องวัตถุดิบ วิธีการพิมพ์ และขั้นตอนการพิมพ์ให้ ยกตัวอย่างเล่ม HOW TO MAKE COFFEE หรือจักรวาลในถ้วยกาแฟ ฉบับปกแข็ง (สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์) ดีไซเนอร์คือ อ.สันติ ลอรัชวี จริงๆ แล้วใช้เทคนิคธรรมดามาก คือปั๊มฟอยล์บนตัวแจ็กเกต แต่ที่มันออกมาดูดี เพราะเกิดจากการที่ลูกค้าจินตนาการว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยบอกคอนเซปต์คร่าวๆ ว่าต้องการให้ปกเป็นกาแล็กซี ถามว่ามีเฉดฟอยล์แบบไหนให้เลือกบ้าง สุดท้ายมาจบที่ฟอยล์ 2 เฉด เป็นงานที่อลังการโดยไม่ต้องใช้เทคนิคใหม่ใดๆ เลย”

02 ว่าด้วยการเข้าเล่ม
“ความแข็งแรงของรูปเล่มไม่จำเป็นต้องเย็บกี่พร้อมกับไสกาวเสมอไป หนังสือที่ความหนาราวๆ 200 หน้า ใช้วิธีไสกาวอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนด้วยการเย็บกี่ ซึ่งเหมาะสมกับหนังสือที่มีความหนามากๆ ประมาณ 400 หน้าขึ้นไป หรือหนังสือที่ต้องการเข้าเล่มแบบปกแข็ง
“ส่วนการเข้าเล่มแบบ paperback หรือ การทำให้หนังสือเปิดได้กว้างจนสุด คือ การไสกาวปกติ เพียงเลือกใช้กระดาษปกที่อ่อน แต่คนไทยมักไม่ชอบการเข้าเล่มแบบนี้ เพราะคิดว่าหนังสือจะเสียหาย ทั้งที่โดยปกติแล้วหนังสือที่สวยและมีเสน่ห์ในความเห็นผม คือหนังสือที่ผ่านการเปิดอ่านแล้ว มีรอยยับ มันคือประวัติศาสตร์ของเรา”
03 ผลงานสุดสร้างสรรค์
“หนังสือที่แหวกแนวหรือดูมีไอเดีย แน่นอนว่าเป็นของเหล่าดีไซเนอร์ โดยธรรมชาติคนในสาขาอาชีพนี้ จะหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาทำงานเสมอ หามุมมองใหม่ๆ มาออกแบบสิ่งใหม่ๆ อย่างหนังสือเล่มหนึ่งที่ต้องการให้กระดาษมีความหลากหลายมากๆ เนื่องจากพูดถึงจักรวาลของนักออกแบบ ก็มีการเลือกกระดาษให้ตรงกับบุคลิกของนักออกแบบ
“มีทั้งกระดาษ stardream ที่มีความเลื่อมเหมือนผิวดาว กระดาษสีเหลืองมาพิมพ์สีดำสีเดียวเพื่อให้ได้อีกเอฟเฟกต์ ฯลฯ ส่วนกระดาษปกมีผิวสัมผัสคล้ายๆ พลาสติก ชื่อกระดาษ curious matter goya white ของ Antalis ซึ่งเลียนแบบผิวขรุขระ ทั้งหมดส่งผลในแง่ดีสำหรับเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาที่เรียนด้านการออกแบบ”




04 โครงการ ‘100abcd’ ของ PUBAT สร้างประโยชน์ให้การพิมพ์



“การคัดเลือก 100 ปกสวย ที่จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีการพิจารณาเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย คิดว่าตรงนี้มีประโยชน์มาก เพราะทำให้คนเห็นหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้จักสำนักพิมพ์ เทคนิคต่างๆ ได้รู้จักดีไซเนอร์ ส่วนคนทำงานเองก็ได้เรียนรู้จากงานของคนที่เขาชื่นชม ซ้ำยังกระตุ้นให้คนทำหนังสือหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบ เพื่อผลิตเป็นหนังสือที่สวยมากขึ้นด้วย เรื่องของการพิมพ์หรืองานช่างไม่ใช่ความรู้ตายตัว แต่เป็นงานฝีมือ คือประสบการณ์ที่ต้องมาแชร์กัน”
05 คำแนะนำสำหรับมือใหม่
“สมัยนี้เป็นยุคของการเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ของตัวเอง เขียนเอง พิมพ์เอง ซึ่งที่ผ่านมา มักมีภาพจำของวัสดุต่างๆ ที่คล้ายๆ กันตามท้องตลาด ถ้าให้แนะนำ อยากให้ลองสนุกไปกับการเดินดูหนังสือต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย เราจะได้เห็นการเลือกใช้วัตถุดิบที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานพิมพ์ของเราได้ ช่วยยกระดับโปรดักชั่นได้ หรือมาคุยกับทางโรงพิมพ์ก็ได้ครับ ยินดีแนะนำ”



