ที่สุดสิ่งพิมพ์ 2021

สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมหนังสือ

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาวงการหนังสือในประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งปัจจุบันในปี 2565 มีสมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์และร้านหนังสือจำนวน 385 ราย ซึ่งมีจำนวนสมาชิกลดลงจากปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีสมาชิก 525 ราย สอดคล้องกับมูลค่าภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมหนังสือซึ่งลดลงเหลือเพียง 12,500 ล้านบาท จากที่สูงสุดเกือบ 30,000 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2557

จากมูลค่าตลาดที่ลดลงก็สะท้อนภาพร้านหนังสือที่ลดลงเช่นกัน จากเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยมีร้านหนังสือทั่วประเทศไทยมากถึง 2,483 ร้าน จน 10 ปีต่อมาลดลงเหลือเพียง 566 ร้าน เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นจนปี 2565 มีร้านหนังสือจำนวน 800 ร้าน อย่างไรก็ตาม รายได้ของสามร้านหนังสือหลักนั่นคือ ซีเอ็ด บีทูเอส และนายอินทร์ ก็มีรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด

ข้อมูลตลาดในปี พ.ศ. 2564

ในปี พ.ศ. 2564 มีการผลิตหนังสือทั้งสิ้น 18,291 ปก โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ประเภทหนังสือที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ หนังสือประเภทการ์ตูน นิยายแปล และหนังสือเด็กและเยาวชน ในขณะที่หนังสือประเภทที่มีการผลิตลดลงเป็นอย่างมาก ได้แก่ คู่มือเรียน นิยายไทย และบริหารธุรกิจ ซึ่งหมวดหนังสือที่มียอดขายสูงที่สุด คือ หมวดนวนิยาย หมวดคู่มือเรียนและคู่มือสอบ หมวดพัฒนาตนเอง หมวดบริหารธุรกิจ และหมวดการ์ตูน เรียงตามลำดับ

หนังสือเล่มที่มียอดขายดีที่สุดในปี พ.ศ. 2564 คือ 1. มหาศึกคนชนเทพ 2. ดาบพิฆาตอสูร 3. ปรมารจารย์ลัทธิมาร
4. Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น 5. ฮัสกี้หน้าโง่กับอาจารย์เหมียวขาวของเขา ในขณะที่หนังสือเล่มที่ติดอันดับ BEST SELLER ยาวนานที่สุด ได้แก่ 1. เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น 2. ดาบพิฆาตอสูร 3. วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า
4. INTO THE MAGIC SHOP 5. รู้แค่นี้ขายดีทุกอย่าง

สำนักพิมพ์ที่ได้ผลิตหนังสือออกมาสู่ตลาดมากที่สุดอันดับ 1 คือ บริษัท เอสเอ็มเอ็ม พลัส จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 734 ปก อันดับ 2 บริษัท เพชรประกาย จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 675 ปก อันดับ 3 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 362 ปก อันดับ 4 บริษัท ไอดีซี พรีเมียร์ จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 235 ปก และอันดับ 5 บริษัท คาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด ผลิตหนังสือออกมาจำนวน 202 ปก

สำนักพิมพ์ที่มีหนังสือติดอันดับขายดีมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท บิบลิโอ จำกัด 4. บริษัท คาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด และ 5. บริษัท เอสเอ็มเอ็ม พลัส จำกัด

ทิศทางของอุตสาหกรรมในธุรกิจสำนักพิมพ์ไทยหลังการฟื้นตัวจากโรคระบาด Covid – 19

ภาพรวมธุรกิจหนังสือปี พ.ศ. 2564 เติบโตจากออนไลน์ประมาณร้อยละ 20 โดยตัวเลขที่เติบโตมาจาก Market Place เช่น Shopee และ Lazada ในขณะที่กลุ่มของร้านหนังสือและร้านอิสระกลับได้รับผลกระทบจากการที่ Market place เติบโตอย่างเห็นได้ชัด มูลค่ายอดขายโดยรวมของธุรกิจหนังสืออยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ร้านเชนสโตร์มากกว่าร้อยละ 50

กลุ่ม Market place มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับกลุ่มหนังสือประเภท E-Book ก็เติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน โดยผู้ที่มีสัดส่วนการขายอันดับหนึ่งคือ MEB ในขณะที่กลุ่มของร้านหนังสือมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้สามารถแข่งขันอย่างเท่าทัน โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการทำแอพพลิเคชั่น E-Library เพื่อสนับสนุนห้องสมุดของโรงเรียน อีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีหลังคือกลุ่มนักเขียนอิสระที่มีชื่อเสียงมาเปิดเพจทำหนังสือขายเอง และมีวิธีการโปรโมทตัวเองผ่านช่องทาง Social Media ซึ่งส่งผลกระทบกับหน้าร้านไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในปี พ.ศ. 2565 นี้จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเรื่องการขายหนังสือ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2564

หมวดหนังสือที่คาดว่าจะขายดีในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่ หมวดนวนิยาย หมวดพัฒนาตนเอง หมวดคู่มือเรียนและคู่มือสอบ หมวดบริหารธุรกิจ และหมวดการ์ตูน เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ยังมีหนังสืออีกหลายหมวดที่น่าจับตามองว่าจะมีการเติบโตมากขึ้น ได้แก่ หมวดเด็กและพ่อแม่ หมวดทำสวน หมวดสุขภาพ และหมวดประวัติศาสตร์และการเมือง

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ราคากระดาษสูงขึ้น ดังนั้นใน 1 – 2 ปีต่อจากนี้มีแนวโน้มว่าหนังสืออาจจะมีราคาสูงขึ้นอีก ประกอบกับจำนวนการผลิตที่ลดน้อยลง ทำให้ต้นทุนต่อเล่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จึงยังต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบบูรณาการทั้งระบบ โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐต่อไป